ทำไมทหารเรือจึงรักกรมหลวงชุมพรฯมาก
รายละเอียด
- รายละเอียด
- หมวดหลัก: เว็บเพจ
- สร้างเมื่อ วันศุกร์, 14 ธันวาคม 2555 21:56
- อัพเดตล่าสุดเมือ วันพุธ, 28 พฤษภาคม 2557 17:43
- เผยแพร่เมื่อ วันศุกร์, 14 ธันวาคม 2555 21:56
- เขียนโดย Webmaster
- ฮิต: 18147
โดย...พลเรือตรี กรีฑา พรรธนะแพทย์
พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ต้นราชกุลอาภากร ประสูติเมื่อ วันอาทิตย์ที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๒๓ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับเจ้าจอมมารดาโหมด ป.จ. ธิดาของเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) สมุหพระกลาโหมในราชการที่ ๕
พระองค์ทรงเปรียบประดุจองค์บิดาของทหารเรือไทย ทรงริเริ่มวางรากฐานกิจการทหารเรือ ทรงจัดทำแผนการทหารเรือ แผนการทัพเรือ ทรงประสิทธิ์ประสาทวิชาการทหารเรือ ทรงจัดการศึกษาทางยุทธศาสตร์ยุทธวิถีและกระบวนรบทำให้กองทัพเรือมีความเข้มแข็ง มั่นคง มีประสิทธิภาพ และเจริญก้าวหน้าเป็นที่ประจักษ์มาจนทุกวันนี้พระองค์ทรงกอปรด้วยพระคุณลักษณะของทหารเรือทุกประการ ทรงปลูกฝังวิญญาณทหารเรือไว้ในส่วนลึกของหัวใจให้ทหารเรือไทยทุกคนเป็นทหารเรืออย่างแท้จริง พระจริยวัตรที่ทรงแสดงออกจากน้ำพระทัยมิใช่อย่างข้ากับเจ้าหรือบ่าวกับนาย หากแต่เสมือนบิดากับบุตรเป็นที่ซาบซึ้งตรึงใจและเทิดทูนบูชาของทหารเรือทั้งหลายยิ่งนัก
สมาชิกและผู้อ่านสามารถติดตามอ่านต่อได้ในนิตยสารนาวิกศาสตร์ ปีที่ ๙๕ เล่มที่ ๑๒ เดือน ธันวาคม ๒๕๕๕
เรือรบยุคใหม่กับการปฏิบัติการที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง (NCO)
รายละเอียด
- รายละเอียด
- หมวดหลัก: เว็บเพจ
- สร้างเมื่อ วันศุกร์, 14 ธันวาคม 2555 20:59
- อัพเดตล่าสุดเมือ วันพุธ, 28 พฤษภาคม 2557 17:43
- เผยแพร่เมื่อ วันศุกร์, 14 ธันวาคม 2555 20:59
- เขียนโดย Webmaster
- ฮิต: 17102
![]() |
เรือรบยุคใหม่กับการปฏิบัติการที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง (NCO)โดย...พลเรือเอก ทวีวุฒิ พงศ์พิพัฒน์ ในสมัยโบราณการรบทางเรือ ก็คือการใช้กำลังทางบกลงเรือไปพร้อมอาวุธ เช่น ดาบสองมือ ทวน หอก ลงเรือไป โดยเรือก็คือพาหนะนั่นเอง เมื่อความเจริญทางเทคโนโลยีเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมของยุโรป ก็มีปืนไฟและปืนใหญ่ติดตามมา การรบทางเรือเริ่มมีการติดอาวุธปืนใหญ่ลงไปกับเรือด้วย แต่อย่างไรก็ตามปืนใหญ่ในยุคโบราณนับตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นปืนชนิดบรรจุปากกระบอก อำนาจการทำลายไม่สูงนัก จนกระทั่งถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการแบ่งเป็นทหารเรือกับทหารบกโดยทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ตั้งกรมยุทธนาธิการ (กองทัพบก) และกรมทหารเรือขึ้นจึงเป็นการแบ่งหน้าที่การรบทางบกและทางเรืออย่างเด่นชัด และนับเป็นการกำเนิดกองทัพเรือในการนำเทคโนโลยีมาใช้ด้วย
|
|
สมาชิกและผู้อ่านสามารถติดตามอ่านต่อได้ในนิตยสารนาวิกศาสตร์ ปีที่ ๙๕ เล่มที่ ๑๒ เดือน ธันวาคม ๒๕๕๕ |
เรือฟริเกตอเนกประสงค์สมรรถนะสูงยุคใหม่
รายละเอียด
- รายละเอียด
- หมวดหลัก: เว็บเพจ
- สร้างเมื่อ วันศุกร์, 14 ธันวาคม 2555 20:22
- อัพเดตล่าสุดเมือ วันอังคาร, 29 ตุลาคม 2556 19:19
- เผยแพร่เมื่อ วันศุกร์, 14 ธันวาคม 2555 20:22
- เขียนโดย Webmaster
- ฮิต: 17987
โดย...นาวาเอก คำรณ พิสณฑ์ยุทธการ
ภาพสงครามในอนาคตกำลังเริ่มที่จะมองเห็นได้ไม่ยากนัก เมื่อมองดูการพัฒนากำลังรบของชาติมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกคือ สหรัฐ ฯ ซึ่งนับตั้งแต่เริ่มพัฒนาเรือบรรทุกเครื่องบินครั้งแรกในปี ค.ศ.๑๙๑๐ ที่นำไปสู่ชัยชนะในสงครามทางเรือในทะเลคอรัล ในเดือน พ.ค.ปี ค.ศ.๑๙๔๒ และในสมรภูมิมิดเวย์ในอีกหนึ่งเดือนต่อมา และได้กลายเป็นยานรบหลักของกองทัพเรือสหรัฐ ฯ มานับแต่นั้น ในช่วงเวลา ๙๐ ปีแห่งการพัฒนาเรือบรรทุกเครื่องบินหลักของสหรัฐ ฯ ตั้งแต่เรือ USS Langley (CV-1) ในปี ค.ศ.๑๙๒๒ มาจนถึงเรือชั้น Essex ในสงครามโลกครั้งที่ ๒ และสงครามเกาหลี จนถึงเรือบรรทุกเครื่องบินชั้น Nimitz ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นเรือรุ่นล่าสุดที่สหรัฐ ฯ นำเข้าประจำการมาได้ ๑๕ ปีแล้ว และเป็นเรือที่ได้รับการออกแบบพัฒนาขึ้นในปี ค.ศ.๑๙๖๐ จนถึงเวลาที่สหรัฐ ฯ จะนำเรือบรรทุกเครื่องบินยุคใหม่ชั้น Gerald R. Ford เข้ามาแทนที่ ซึ่งมีรูปร่างคล้ายเรือชั้น Nimitz ที่เปลี่ยนระบบอุปกรณ์ภายในรวมทั้งระบบดีดส่งเครื่องบินแบบ Electromagnetic Catapult รุ่นใหม่ทั้งหมด ปัจจุบันเรือชั้นนี้ได้ต่อเสร็จแล้ว ๒ ลำคือ USS Gerald R. Ford และ USS John F. Kennedy และกำลังต่ออีก ๑ ลำแต่ยังไม่ได้ตั้งชื่อ โดยเรือบรรทุกเครื่องบินรุ่นใหม่นี้จะมีอาวุธสำคัญมาประจำการบนเรือนอกเหนือจากอากาศยานแบบเดิม คือ เครื่องบินรบรุ่นใหม่ล่าสุดแบบ Joint Strike Fighter (F-35C Lightening II) ของบริษัท Lockheed Martin ซึ่งเป็นอากาศยานวิ่งขึ้นสั้น-ลงทางดิ่ง (Short Take-off Vertical Landing: STOVL) ยุคใหม่ และยานรบไร้นักบิน (Unmanned Combat Air Vehicle: UCAV) แบบ X-47B ของ Northrop Grumman ที่สามารถใช้อาวุธได้
นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบันกองทัพเรือสหรัฐ ฯ ได้พัฒนาเรือฟริเกตเป็นเรือรบหลักหลายแบบด้วยกัน เช่น เรือฟริเกตชั้น Bronstein (FF) ๒ ลำ ในปี ค.ศ.๑๙๖๓ เรือฟริเกตชั้น Garcia (FF) ๑๐ ลำ ในปี ค.ศ.๑๙๖๔ เรือฟริเกตชั้น Knox (FF) ๔๖ ลำ ในปี ค.ศ.๑๙๖๙ - ๑๙๗๔ เรือฟริเกตชั้น Brooke FFG ๖ ลำ ในปี ค.ศ.๑๙๖๖ - ๑๙๘๘ และเรือฟริเกตชั้น Oliver Hazard Perry (FFG) ๕๑ ลำ ในปี ค.ศ.๑๙๗๗ - ๑๙๘๙ จากนั้นก็เริ่มหยุดพัฒนาเรือฟริเกต แต่หันมาพัฒนาเรือ Littoral Combat Ship สำหรับใช้ในเขตน้ำตื้นแทน
สมาชิกและผู้อ่านสามารถติดตามอ่านต่อได้ในนิตยสารนาวิกศาสตร์ ปีที่ ๙๕ เล่มที่ ๑๒ เดือน ธันวาคม ๒๕๕๕
เรือ(รบ)หลวง ที่มาไม่ถึงประเทศไทย
รายละเอียด
- รายละเอียด
- หมวดหลัก: เว็บเพจ
- สร้างเมื่อ วันศุกร์, 07 กันยายน 2555 08:04
- อัพเดตล่าสุดเมือ วันเสาร์, 15 มิถุนายน 2556 23:59
- เผยแพร่เมื่อ วันศุกร์, 07 กันยายน 2555 08:04
- เขียนโดย editor
- ฮิต: 5433
เพื่อนทหารเรือ
เมื่อหลายปีก่อน ผมได้อ่านบทความในหนังสือ แทงโก้ (TANGO) ของมูลนิธิอนุรักษ์และพัฒนาอากาศยานไทย ได้เขียนถึงเครื่องบินขับไล่ปีกชั้นเดียวแบบ North American P-64 ซึ่งกองทัพอากาศได้สั่งซื้อจากสหรัฐอเมริกาในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 (ก่อนสงครามอินโดจีน) และเมื่อสถานการณ์ในทางด้านตะวันออกไกลและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดูจะมีความรุนแรงยิ่งขึ้น ทางรัฐบาลอเมริกันคงจะเริ่มพิจารณาเห็นถึง การดำเนินนโยบายด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของรัฐบาลพิบูลสงคราม เริ่มจะมีความแข็งกร้าว อาจมีการคุกคามต่ออินโดจีนฝรั่งเศส (ซึ่งปกครองลาว-ญวน-เขมร) จากนโยบายทวงดินแดนที่เสียไปในสมัยร.ศ.๑๑๒ และก่อนหน้าคืน ซึ่งอันที่จริงไม่รู้ว่าใครข่มขู่ใครก่อนกันแน่ แต่จากบทบาทที่รัฐบาลพิบูลสงคราม ดำเนินนโยบายสร้างกำลังทางเรือตามพรบ.บำรุงกำลังทางเรือ พ.ศ.๒๔๗๘ ทำให้กองทัพเรือสามารถสั่งต่อเรือรบตามสกีม 1 และ 2 เป็นลำดับมา ทำให้มหาอำนาจย่อมจะต้องเป็นห่วงดุลทางทหารในภูมิภาคอย่างแน่นอน
ตามรายละเอียดที่ค้นคว้าเกี่ยวกับเครื่องบินและประวัติศาสตร์ตอนนั้น ปรากฏความจริงว่ากองทัพอากาศไทยขณะนั้น เพิ่งมีเครื่องบินขับไล่สมรรถนะสูงปีกชั้นเดียวใช้อยู่แบบเดียว คือ บ.แบบ Hawk 75 [(เครื่องบินขับไล่แบบที่ 11 หรือ บ.ข.๑๑) กับเครื่องบินทิ้งระเบิดแบบที่ ๓ หรือ บ.ท.๓ คือเครื่องบินแบบ B-10 Martin ปีกชั้นเดียว 2 เครื่องยนต์ ลำตัวโลหะ] และตามสัญญานั้น นอกจากการส่งมอบเครื่องบิน P-64 จำนวนหนึ่ง และมีสิทธิบัตรในการประกอบหรือจัดสร้างลำตัวเครื่องบินปีกชั้นเดียวแบบนี้ด้วยอีกจำนวนหนึ่ง อันจะเป็นการพัฒนาหรือรับถ่ายทอดเทคโนโลยีเครื่องบินลำตัวโลหะ จากที่กรมอากาศยาน หรือกรมช่างอากาศที่สะพานแดงของกองทัพอากาศ ที่ขยายตัวแยกออกจากแผนกการบินของกองทัพบก และได้เคยซื้อแบบมาสร้าง พัฒนาต่อยอดด้วยการประดิษฐ์ ลอกแบบ ออกแบบและจัดสร้างเครื่องบินปีก 2 ชั้น ขึ้นมาเองได้จำนวนหนึ่ง โดยซื้อเครื่องยนต์สำเร็จรูปจากต่างประเทศเข้ามาประกอบกับโครงสร้างที่ทำขึ้นในประเทศ เช่น บ.ประชาธิปก และบ.ทิ้งระเบิดบริบัตร (บ.ท.๒) จากยุคที่ใช้ผ้าใบอาบกาวที่เรียกว่าโด๊ป ซึ่งอันที่จริงกรมอู่ทหารเรือก็ได้ร่วมมีบทบาทในการผลิตชิ้นส่วน แล่นประสาน และประกอบบางส่วนของอากาศยุคปีก 2 ชั้นเหล่านั้นด้วย [คล้ายกันกับการประกอบเครื่องบินทะเลแบบ ราชนาวี ๑ (บรน.๑) ซึ่งคุณครูผู้อาวุโสเล่าให้ฟังว่า กรมช่างอากาศมาช่วยกรมอู่ทร.ประกอบแล้วนำลงแม่น้ำเจ้าพระยา บินไปลงจุกเสม็ดที่สัตหีบ]
หลังจากการผลิตประกอบขั้นปลายจนเลือกสีเป็นสีลายพราง และเรือสินค้าได้ลำเลียงออกจากสหรัฐอเมริกาจนมาแวะฟิลิปปินส์เป็นท่าเรือสุดท้าย จนออกเรือและมีโทรเลขยืนยันกำหนดถึงท่าเรือกรุงเทพแล้ว ปรากฏว่าเรือได้รับคำสั่งให้หันหัวเรือกลับ ซึ่งทหารอากาศบางนายได้ติดตามเหตุการณ์ประวัติศาสตร์นั้น จนสามารถชี้แจงได้ถึงสังกัดสุดท้ายที่มีการโอนเครื่องบินดังกล่าวเข้าประจำการและการร่วมวมมีบทบาทในการผลิตชิ้นส่วน แล่นประสาน และประกอบบางส่วรบในสงครามโลก จนสูญเสียทั้งหมด แล้วมูลนิธิฯ ยังได้ติดตามซื้อเครื่องบินในรุ่นดังกล่าว (Model เดียวกันแต่ต่าง Mark) มาไว้ในพิพิธภัณฑ์ที่ดอนเมืองให้ปรากฏแก่ลูกหลานและผู้สนใจในปัจจุบันด้วย
หากศึกษาติดตามข้อมูลในช่วงนั้น จะทราบว่าญี่ปุ่นได้ทำการเสนอขายเครื่องบินขับไล่ให้รัฐบาลไทยแทน ในจำนวนเดียวกัน ซึ่งน่าจะนับได้ว่าเป็นการเอาใจไทยให้ออกห่างจากสหรัฐอเมริกา แต่น่าจะนับได้ว่าเทคโนโลยีที่ไม่ได้รับจากการถ่ายทอดครั้งนี้ทำให้เราล้าหลังและขาดตอนการติดตามเทคโนโลยี จนสิ้นสงครามและตามโลกวิวัฒนาการทางอากาศยานของกรมช่างอากาศ ที่เคยต่อยอดและออกแบบ สร้างเครื่องบินปีก 2 ชั้นได้เองและตามไม่ทันจนปัจจุบันหรือไม่ ผมคงไม่วิจารณ์ แต่ทำให้ผมนึกถึงเรือลาดตระเวนคู่แรกหลังพรบ.บำรุงกำลังทางเรือพ.ศ.๒๔๗๘[i] แล้วตามแผน เรามีส่วนในโครงการตามพรบ.บำรุงกองทัพสยาม โดยเตรียมการจัดหาเรือลาดตระเวน ๒ ลำ ที่เราสั่งต่อจนได้รับพระราชทานชื่อว่า รล.ตากสิน และ รล.นเรศวร ลำที่ 1 ที่อิตาลี ทั้ง 2 ลำที่มาไม่ถึงประเทศไทย ทั้งที่เตรียมกำลังพลรับเรือแล้ว พล.ร.ท.วิสิฎฐ์ เผ่าทองศุข ร.น. อดีตเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ ในสมัยเป็นผอ.ราชนาวิกสภาได้เล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่าอิตาลีเกณฑ์ไปใช้ในสงคราม โดยได้ตั้งชื่อใหม่อยู่ในเรือลาดตระเวนชุดภูเขาไฟ คือ เอทน่า กับ วิซูเวียต และประวัติในทร.เรามีแต่มีประวัติสั้น ๆ ว่า “เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 การสร้างเรือดำเนินไปได้ช้าลง เพราะขาดแคลนวัสดุและการส่งอาวุธประจำเรือ ปืนใหญ่หลักขนาด 6 นิ้ว ทั้ง 3 ป้อมก็เป็นของ โบฟอร์ส สวีเดน ที่ได้รับผลโดยตรงจากสงคราม ถูกเยอรมันบุกจนเกือบถูกยึดครอง” ซึ่งเราคงทราบดีว่าอิตาลีเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ คือ เยอรมัน และสงครามโลกครั้งที่ 2 ในยุโรปเขารบกันตั้งแต่ปี 1939 (พ.ศ.2482) หลังเยอรมันบุกโปแลนด์ แม้ไทยจะร่วมรบกับญี่ปุ่นหลังมกราคม 2485 (จนถูกพันธมิตรส่งเครื่องบิน B-24 ลิเบอเรเตอร์ มาทิ้งระเบิดกรุงเทพฯ หลังจากญี่ปุ่นบุกเมื่อ 8 ธันวาคม 2484) จนเมื่อสถานการณ์คับขัน ในฝ่ายอักษะด้วยกันก็ต้องเอาตัวรอดทั้งนั้น “เรือรบทั้ง 2 จึงถึงเกณฑ์เข้าร่วมรบและถูกโจมตีทิ้งระเบิดจนจมนั่งแท่นอยู่ในแม่น้ำ”
ผมเองจากที่ได้เกิดความสนใจที่หารายละเอียดของเรือทั้งสองลำนี้ว่าเป็นไปเป็นมากันอย่างไร และอยากจะหาข้อมูล และหน้าตาของเรือที่ถูกแปลงสภาพไป จึงเริ่มลงมือค้นหาในทางฝ่าย ทร. ก่อน ซึ่งก็ได้คำแนะนำจากคุณครู พลเรือเอกประพัฒน์ จันทวิรัช ร.น. อดีตผู้บัญชาการทหารเรือว่า เคยมีภาพวาดของเรือทั้งสองนี้ในนาวิกศาสตร์สมัยที่ท่านเป็นนักเรียนนายเรือ ซึ่งผมก็ไม่มีโอกาสค้นหา เพราะอาจต้องไปต่อสู้กับปลวกหรือไม่ก็ไม่ทราบ แต่ในโอกาสที่ได้เข้าเยี่ยมคาราวะนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่กองบัญชาการ กองเรือยุทธการ สัตหีบ ก็ได้พบภาพวาดที่น่าจะเป็นเรือดังกล่าว จึงได้ถ่ายภาพด้วยกล้องที่ใช้ฟิล์ม อัดขยายแล้วนำมาสอบถามคุณครูทำนุฯ (พลเรือโททำนุ เนตรโรจน์ ร.น. ประธานคณะกรรมการประวัติศาสตร์กองทัพเรือท่านแรก) ภายหลังท่านเกษียณ ท่านดูแล้วท่านก็ตอบว่าใช่ จึงได้เริ่มเห็นภาพเรือมากกว่าภาพตอนอยู่ในอู่แห้งกับตอนปล่อยเรือลงน้ำ พร้อมกับรายละเอียดและประวัติจนจบของเรือพี่-น้องคู่นี้ ผมจึงลองค้นความเดิม ตั้งแต่ดั้งเดิมที่ทร.สยามเคยคิดอยากมีเรือลาดตระเวน ซึ่งก็พอลำดับความได้[i] การนับปี พ.ศ.ของเราก่อนยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 เราไปเปลี่ยนปีพ.ศ.เมื่อขึ้นเดือนเมษายน จึงควรระวังความสับสน
สมาชิกและผู้อ่านสามารถติดตามอ่านต่อได้ในนิตยสารนาวิกศาสตร์ ปีที่ ๙๕ เล่มที่ ๑๑ เดือน พฤศจิกายน ๒๕๕๕