บทความเรื่อง "๑๘ ปียุทธการนาวาราชาแห่งลำน้ำ"
โดย...พลเรือตรี วินัย กล่อมอินทร์
นาวิกศาสตร์ เดือนธันวาคม ๒๕๕๕
การแข่งเรือหรือการแข่งเรือยาวมีมาแต่สมัยโบราณกาล แต่ไม่มีบันทึกเป็นหลักฐานว่าประเทศใดที่จัดให้มีการแข่งเรือเป็นประเทศแรกของโลก แต่ก็กล่าวได้ว่าการแข่งเรือเป็นที่นิยมของชนชาติและประเทศทางแถบเอเชีย สำหรับประเทศไทยในแผ่นดินสมัยกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระองค์ทรงพระปรีชาสามารถโปรดให้มีการแข่งเรือของบรรดาทหารเป็นทำนองฝึกซ้อมฝีพายให้พร้อมและเน้นความสามัคคี หลังจากแข่งขันได้พระราชทานรางวัลให้กับผู้ชนะ ซึ่งสมัยนั้นเป็นสมัยที่มีการเรือเข้มแข็งที่สุดเป็นเหมือนเรือเร็ว เมื่อคราวพระยาจีนจันตุคิดหนีออกจากกรุงศรีอยุธยา พระองค์ประทับเรือเร็วออกติดตาม ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระองค์ทรงใช้กำลังทางเรือซึ่งประกอบด้วยเรือสำเภา และเรือยาว โดยรวบรวมไพร่พลมาจากจันทบุรี ประมาณ ๕,๐๐๐ คน ผ่านทางหัวเมืองชายทะเล ระยอง แสมสาร สัตหีบ พัทยา ชลบุรี เข้าปากแม่น้ำเจ้าพระยา ยกพลขึ้นบกที่ป้อมวิชัยประสิทธิ์ แล้วตีค่ายโพธิ์สามต้น เมื่อ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๓๑๐ จนกองทัพพม่าแตกพ่ายเพราะไม่คาดคิดว่าจะต้องพบกับการยกพลขึ้นบก ซึ่งการนำไพร่พลมากับเรือสำเภาและขึ้นบกจากเรือใหญ่ขึ้นฝั่งต้องอาศัยเรือเล็กซึ่งก็คือเรือยาวนั่นเอง นับแต่กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ เรือพายถือเป็นยุทโธปกรณ์หลัก ฝีพายต้องมีฝีมืออันยอดเยี่ยม สะพายดาบอยู่ข้างหลัง มือพายเรือ เมื่อหยุดพายเรือก็จับดาบฟันข้าศึกกู้ชาติ สร้างชาติ และรักษาเอกราชมาจนถึงทุกวันนี้ เรือเร็ว เรือพาย ในสมัยนั้น ๆ ก็คือเรือยาวที่เราใช้แข่งขันกันอยู่ทุกวันนี้