โดย นาวาโท ภาณพันธุ์ รักษ์แก้ว
สถานการณ์สมมุติ
ข่าวราชนาวีจากหน่วยเหนือถึงหน่วยรอง:
“เนื่องด้วยขณะนี้ได้เกิดสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่... และฝ่ายข่าวได้รับการแจ้งเตือนให้ระวังเหตุวินาศกรรมสถานที่ทางราชการ โดยเฉพาะที่ตั้งหน่วยทหาร จึงให้ทุกหน่วยเพิ่มมาตรการณ์รักษาความปลอดภัยหน่วยให้เกิดความปลอดภัย...”
เวลาผ่านไป ๑ เดือน สถานการณ์กลับภาวะปกติ:
หน่วยเหนือ : “......(เงียบ)....”
หน่วยรอง : “……..?……….”
ผู้เขียนได้เคยอยู่ในสถานการณ์คล้ายเหตุการณ์สมมุติข้างต้นทั้งในฐานะผู้ปฏิบัติในหน่วยเรือ (ปฏิบัติงานในเรือ) ผู้ปฏิบัติงานหน่วยเหนือ (ศปก.ทร.) และต่อมาได้กลับไปปฏิบัติงานเป็นผู้ปฏิบัติของหน่วยเหนือที่มีหน่วยรอง (ทรภ.) โดยเมื่อเป็นนายทหารประจำเรือไปปฏิบัติราชการอยู่ ณ ทัพเรือภาค ๓ กองเรือยุทธการ มีข่าวราชนาวีจากหน่วยเหนือเตือนให้เพิ่มการระวังรักษาความปลอดภัย เนื่องจากสถานการณ์ตึงเครียดกับประเทศเพื่อนบ้านแต่เพิ่มอย่างไรไม่ได้สั่งการมาด้วย ก็ได้รับคำสั่งจาก ผู้บังคับการเรือเรือให้เพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยเรือด้วยการเพิ่มจุดยามประจำวัน ให้ยามเบิกอาวุธเบิกอุปกรณ์สื่อสาร ติดไฟแสงสว่างเพิ่มขึ้น เรียกกำลังพลที่ได้รับการลาให้กลับมาเตรียมพร้อมที่เรือ จัดตั้งชุดติดตามสถานการณ์ข่าวและประสานงานกับหน่วยงานข่าวที่เกี่ยวข้องเพื่อบรรยายสรุปให้ ผู้บังคับการเรือ และกำลังพลได้รับทราบสถานการณ์ แต่เมื่อสถานการณ์ผ่านไปหลายวันเข้าจนไม่มีรายงานจากฝ่ายข่าวมาอีกว่าจะเกิดเหตุร้ายต่อสถานที่ราชการก็ไม่ได้รับการสั่งการจากหน่วยเหนือให้ลดมาตรการรักษาความปลอดภัยของหน่วย ซึ่งเมื่อตอนเป็นนายทหารชั้นผู้น้อยก็ไม่ได้คิดมากอะไร แต่ก็จำได้ว่า ผู้บังคับการเรือ เป็นผู้สั่งยกเลิกสถานการณ์เองโดยไม่ได้มีการสั่งการลดจากหน่วยเหนือแต่อย่างใด
ต่อมาเมื่อมาปฏิบัติงาน ณ ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือ เกิดสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองครั้งแรก ทำให้ที่ตั้งหน่วยทหารเป็นเป้าหมายของการก่อเหตุวินาศกรรม โดยครั้งนี้หน่วยเหนือได้แจ้งเตือนหน่วยรองที่เป็นหน่วยขึ้นตรง กองทัพเรือ ให้เพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยหน่วยเหมือนเช่นเคย โดยทั่วไปให้ปฏิบัติตามระเบียบกองทัพเรือว่าด้วยการรักษาความปลอดภัย พ.ศ.๒๕๓๑ แต่ครั้งนี้ภายหลังสถานการณ์ได้มีการแจ้งถึงสถานการณ์ที่คลี่คลายลง แต่ก็ยังคงไม่มีคำสั่งให้ลดมาตรการความปลอดภัยแต่อย่างใด ก็ได้แต่มีความคิดเห็นส่วนตัวว่าทำไมเราถึงมีแต่สั่งให้เพิ่มแต่ไม่เคยสั่งลด หรือการสั่งลดนั้นกระทำได้ยากเพราะหาผู้รับผิดชอบไม่ได้ ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์ใดหลังสั่งลดมาตรการแล้วผู้สั่งอาจได้รับการตำหนิฐานสั่งลดระดับมาตรการรักษาความปลอดภัยเนื่องจากไม่มีขั้นตอนในการตัดสินใจที่จะเพิ่มหรือลด โดยหากการตัดสินใจอยู่บนพื้นฐานตามกระบวนการตัดสินใจแล้วย่อมไม่มีผู้ที่ต้องรับผิด เพราะได้ปฏิบัติตามบรรทัดฐานแล้วแต่สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่เหนือความคาดหมาย หรือเพราะไม่มีแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจนให้ผู้ปฏิบัติได้ปฏิบัติตามก็อาจเป็นได้